ประวัติความเป็นมาของอาคาร History of buildings)
|
ประมาณปี พ.ศ.2494 รัฐบาลได้ดำเนินงานด้านเคหะสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้จัดสร้างอาคารลักษณะบ้านไม้และเรือนแถวขึ้นจำนวน 1,088 หลัง บริเวณถนนดินแดงซึ่งเดิมเป็นสถานที่ทิ้งขยะและเป็นทุ่งนา ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2504 กรมประชาสงเคราะห์พบว่าอาคารไม้ที่สร้างขึ้นขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ประกอบกับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มีมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยได้จำนวนมากในเนื้อที่ดินน้อย จึงได้พิจารณาสร้างเคหะสงเคราะห์เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่สามารถใช้พื้นที่ซ้อนกันได้หลายชั้น แบ่งเป็นห้องชุดอยู่อาศัยที่เรียกว่าแฟลตแบบในต่างประเทศ โดยคาดหวังว่าการสร้างอาคารประเภทแฟลตจะคงทนอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า 100 ปี และมีค่าบำรุงรักษาน้อย ทางคณะกรรมการสำนักงานอาคารสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ จึงได้จัดทำโครงการเคหะสงเคราะห์อาคารสูงแบบแฟลตเป็นครั้งแรกในที่ดินบริเวณถนนดินแดง โดยรื้ออาคารสงเคราะห์ที่สร้างด้วยไม้ที่ชำรุดทรุดโทรมออก แล้วสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบแฟลตแทน อาคารแฟลตชุดแรก (ปัจจุบันคือโครงการเคหะชุมชนดินแดงเก่า) เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.2517 รวมทั้งสิ้น 64 อาคาร มีห้องพักจำนวน 4,144 หน่วย ต่อมา การเคหะแห่งชาติได้รับโอนงานด้านเคหะสงเคราะห์มาดูแลตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 และได้ก่อสร้างอาคารประเภทแฟลตเพิ่มเติมอีกหลายโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นชุมชนเคหะสงเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ (สรุปจาก : ฝ่ายจัดการทรัพย์สินเคหะชุมชน, ประวัติเคหะชุมชนดินแดง, กรุงเทพฯ; มปป. )
|